19 ตุลาคม 2551

อุทยานโลกไดโนเสาร์ภูกุ้มข้าว

อุทยานโลกไดโนเสาร์ภูกุ้มข้าว อ.สหัสขันธ์ จ.กาฬสินธุ์

แผ่นดินที่ราบสูงอีสานมีอายุเก่าแก่นับร้อยล้านปี เคยเป็นแหล่งอาศัยของสัตว์ดึกดำบรรพ์ โดยเฉพาะบริเวณภูกุ้มข้าว ในวัดสักกะวัน อ.สหัสขันธ์ มีการขุดค้นพบฟอสซิลไดโนเสาร์ภูเวียงโกซอรัส สิรินธรเน่ จำนวนถึง ๘ ซาก ภายในหลุมเดียวกัน นับเป็นหลุมขุดค้นที่มีซากไดโนเสาร์รวมกันมากที่สุดแห่งหนึ่งของเอเซีย

เขื่อนลำปาว

ชมสันเขื่อนและทิวทัศน์ทะเลสาบ มองเห็นสันเขื่อนทอดไปไกลสุดสายตา มีอ่างเก็บน้ำหรือทะเลสาบอยู่ด้านทิศเหนือ และมีทิวเขาเตี้ย ๆ อยู่ไกลออกไป สามารถเดินชมสันเขื่อนได้ในช่วงเช้าหรือเย็น บริเวณสันเขื่อนด้านทิศตะวันตกติดกับประตูน้ำมีการจัดบริเวณพักผ่อนอย่างร่มรื่น เหมาะเป็นจุดชมทิวทัศน์ ทั้งมีร้านอาหารเปิดบริการด้วย

การเดินทาง ใช้ทางหลวงหมายเลข 213 (กาฬสินธุ์-มหาสารคาม) กิโลเมตรที่ 33–34 เลี้ยวขวาเข้าเขื่อนลำปาวตามถนนลาดยาง 26 กิโลเมตร

เขื่อนลำปาว เป็นเขื่อนดินที่ยาวที่สุดในประเทศไทย ตัวเขื่อนสูง 33 เมตร ยาว 7,800 เมตร คันเขื่อนกว้าง 8 เมตร เริ่มสร้างในปี พ.ศ. 2506 ตัวเขื่อนเสร็จพ.ศ. 2511 งานระบบ ส่งน้ำเสร็จ พ.ศ. 2528 ใช้ประโยชน์สำหรับการเพาะปลูกในฤดูฝน 314,300 ไร่ ในฤดูแล้ง 200,000 ไร่ และบรรเทาอุทกภัยในที่ราบลุ่มสองฝั่งลำปาว กับบางส่วนของลุ่มน้ำชี ให้ลดน้อยลง

หาดดอกเกด อยู่บริเวณทะเลสาบตรงหัวเขื่อนติดกับ สนง. โครงการเขื่อน เป็นชายหาดกรวด ไม่ลึกชัน น้ำใสสะอาด ในฤดูแล้งหาดจะกว้างใหญ่ขึ้น ชาวกาฬสินธุ์เปรียบบริเวณนี้เป็นทะเลอีสาน เพราะมีบรรยากาศคล้ายบางแสน ในวันหยุดมีผู้คนไปพักผ่อนเล่นน้ำกันมาก มีทั้งร้านอาหารและเครื่องเล่นทางน้ำหลากชนิดบริการ

พระพุทธสถานภูปอ


พุทธสถานภูปอ (วัดภูปอ) เป็นพระพุทธรูปปางไสยาสน์ (พระนอน) ที่มีอายุประมาณ 1500 ปี
ภูปอเป็นเขาหินทราย มียอดเขาสูงจากระดับน้ำทะเล 336 ม. เป็นที่ตั้งของวัดพระอินทร์ประทานพร และมีพระพุทธรูปแกะสลักอยู่บนแผ่นผาผนังถ้ำด้านทิศตะวันตกของภูปอ เป็นพระนอนทั้งสององค์ องค์แรกอยู่ใต้เพิงผาบริเวณเชิงเขาซึ่งอยู่สูงจากพื้นราบ 5 ม. องค์ที่ 2 อยู่ใต้เพิงผาเกือบถึงยอดเขา ต้องเดินขึ้นบันได 426 ขั้น โดยมีที่พักเป็นระยะ
พระไสยาสน์ องค์ที่ประดิษฐานอยู่ตรงเชิงเขา มีศาลาทรงไทยสร้างคลุมไว้ จากลักษณะศิลปะที่ปรากฏ ระบุได้ว่าเป็นศิลปะทวารวดี สร้างขึ้นในพุทธศตวรรษที่ 12-14 เป็นงานแกะสลักนูนต่ำบนแผ่นผาหินทราย ความยาว 3.3 ม. สูง 1.27 ม. นูนจากพื้นหิน 0.55 ม. โดยแกะสลักเป็นองค์พุทธไสยาสน์บรรทมบนผืนผ้า มีหมอนหนุนพระเศียรและพระบาท องค์พระนอนตะแคงขวา เป็นลักษณะของพระนอนปางไสยาสน์ซึ่งเป็นปางที่มีในตำนานว่า พระองค์ทรงแสดงปาฏิหาริย์โดยทรงบรรทมให้วรกายใหญ่โตกว่ายักษ์ตนหนึ่งชื่ออสุรินทราหู ซึ่งไม่ยอมก้มหัวลงไปคุยกับมนุษย์ร่างเล็กเช่นพระพุทธเจ้า จนยักษ์ตนนี้ต้องลดทิฐิและเกิดศรัทธาแหงนหน้าขึ้นไปชมพระบารมีพระพุทธเจ้าส่วนองค์ที่ประดิษฐานอยู่เกือบถึงยอดเขา อยู่ในหลืบผาลึกเข้าไปเล็กน้อย ลักษณะศิลปะแบบทวารวดีผสมสุโขทัย สร้างขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ 18-19 เป็นงานประติมากรรมนูนต่ำบนแผ่นผาหินทราย ความยาว 5.2 ม. สูง 1.5 ม. องค์พระประทับบนแท่นบรรทม โดยนอนตะแคงขวาเช่นกัน

18 ตุลาคม 2551

ประวัติศาสตร์จังหวัดกาฬสินธุ์และพระยาชัยสุนทร

เมืองกาฬสินธุ์ หรือจังหวัดกาฬสินธุ์ ได้ยกฐานะขึ้นเป็น "เมือง" ในรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๑ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช

สมัยก่อนกรุงศรีอยุธยาและสมัยกรุงศรีอยุธยา
ในช่วงนี้มีความกล่าวว่าเคยเป็นถิ่นที่อยู่ของชาวละว้า และได้เคยตกอยู่ในอำนาจของพม่า

สมัยกรุงธนบุรี
ในช่วงนี้นับเป็นเหตุการณ์สำคัญต่อการตั้งเมืองกาฬสินธุ์เป็นอย่างยิ่ง กล่าวคือ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๑๐ พระเจ้าองค์เวียนดาแห่งนครเวียงจันทน์ ได้สิ้นพระชนม์ลง โอรสท้าวเพี้ยเมืองแสน ได้ยกกองทัพเข้ายึดเมืองเวียงจันทน์ประสบความสำเร็จ และได้รับสถาปนาขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดินสืบแทนพระนามว่า "พระเจ้าศิริบุญสาร" เมื่อพระเจ้าศิริบุญสารขึ้นครองราชสมบัติแล้ว ได้กดขี่ข่มเหงเบียดเบียนประชาราษฎร์ให้ได้รับความเดือดร้อนแสนสาหัส ดังนั้น ประมาณปี พ.ศ. ๒๓๒๐ ท้าวโสมพะมิตร และอุปฮาดเมืองแสนฆ้อนโปง เมืองแสนหน้าง้ำ ซึ่งเป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่เกิดขัดใจกับพระเจ้าศิริบุญสาร เจ้าผู้ครองนคร เวียงจันทน์จึงได้รวบรวมผู้คนที่เป็นสมัครพรรคพวกอพยพจากดินแดนทางฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง ข้ามมาตั้งบ้านเรือนอยู่แถวบริเวณลุ่มน้ำก่ำแถบบ้านพรรณา หนองหาร ธาตุเชียงชุม เมืองพรรณานิคม ซึ่งเป็น หมู่บ้าน และอำเภอของจังหวัดสกลนครในปัจจุบัน ครั้นต่อมาท้าวศิริบุญสารได้ยกกองทัพติดตามมา เพื่อกวาดต้อนผู้คนที่หลบหนีมา ให้กลับคืนสู่นครเวียงจันทน์ ทำให้ท้าวโสมพะมิตรและพรรคพวกต้องอพยพต่อไปและได้แบ่งแยกเป็น ๒ สาย
สายที่ ๑
โดยมีเมืองแสนหน้าง้ำเป็นหัวหน้า นำสมัครพรรคพวกบ่าวไพร่ บุตรหลาน มุ่งหน้าไปทางทิศตะวันออก สมทบกับพระวอ พระตา ซึ่งแตกทัพมาจากเมืองนครเขื่อนขันท์กาบแก้วบัวบาน (เมืองหนองบัวลำภู) พระตาถูกปืนข้าศึกตายในสนามรบ พระวอกับเมืองแสนหน้าง้ำ รวบรวมไพร่พลที่เหลือหลบหนีไปจนกระทั่งถึงนครจำปาศักดิ์ และได้นำเครื่องบรรณาการเข้าถวายพอพึ่งบารมีของพระเจ้าหลวงแห่งนครจำปาศักดิ์ พระเจ้าองค์หลวงรับสั่งไปตั้งอยู่ ณ ดอนค้อนกอง พระวอจึงสร้างค่ายขุดคูขึ้นเพื่อป้องกันข้าศึก เรียกค่ายนั้นในเวลาต่อมาว่า "ค่ายบ้านดู่บ้านแก" ใน พ.ศ. ๒๕๒๑ พระเจ้าศิริบุญสารยังมีความโกรธแค้นไม่หาย จึงแต่งตั้งให้เพี้ยสรรคสุโภย ยกกองทัพกำลังหมื่นเศษติดตามลงมา เพื่อจับ พระวอและพรรคพวก พระวอได้ยกกำลังออกต่อสู้ด้วยความห้าวหาญยิ่ง แต่สู้กำลังที่เหนือกว่าไม่ได้จนวาระสุดท้ายได้ถึงแก่ความตาย ณ ค่ายบ้านดู่บ้านแกนั่นเอง ท้าวคำผง ท้าวทิดพรหม และท้าวก่ำผู้เป็นบุตรหลาน ได้พาผู้คนที่เหลือหลบหนีเข้าไปอยู่ในเกาะกลางลำแม่น้ำมูลมี ชื่อว่า "ดอนมดแดง" อยู่ในท้องที่จังหวัดอุบลราชธานีในปัจจุบัน

สายที่ ๒
ท้าวโสมพะมิตรเป็นหัวหน้า ได้พาสมัครพรรคพวกยกพลข้ามสันเขาภูพานลงมาทางใต้ และได้ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่บ้านกลางหมื่น ขณะที่ให้ผู้คนจัดสร้างที่พักอยู่นั้น ท้าวโสมพะมิตรได้สำรวจผู้คนของตน ปรากฏว่ามีอยู่ประมาณ ๕,๐๐๐ คน (ครึ่งหรือกลางหมื่นเหมือนชื่อหมู่บ้านปัจจุบันอยู่ในท้องที่อำเภอเมืองกาฬสินธุ์) และท้าวโสมพะมิตรได้ส่งท้าวตรัยและผู้รู้หลายท่านออกเสาะหาชัยภูมิ เลือกทำเลที่จะสร้างเมืองใหม่ ท้าวตรัยและคณะใช้เวลาสำรวจอยู่ประมาณปีเศษ จึงได้พบทำเลอันเหมาะสม คือได้พบลำน้ำปาว และเห็นว่าแก่งสำโรงชายสงเปลือย มีดินมีน้ำอุดมสมบูรณ์ ควรแก่ตั้งเป็นบ้านเป็นเมือง จึงได้อพยพผู้คนมาตั้งบ้านเรือนบริเวณนี้ และได้จัดสร้างหลักเมืองขึ้น ณ ที่ตั้งศาลเจ้าพ่อหลักเมืองในปัจจุบัน โดยตั้งตัวเป็นอิสระไม่ขึ้นต่อใคร อยู่มาได้ประมาณ ๑๐ ปีเศษ
สมัยกรุงรัตนโกสินทร์
ครั้นต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชได้สถาปนากรุงเทพมหานครขึ้นเป็นเมืองหลวงเมื่อ พ.ศ. ๒๓๒๕ และเจริญรุ่งเรืองก้าวหน้ามาก ท้าวโสมพะมิตรเห็นเป็นโอกาสดีจึงได้นำเครื่องบรรณาการเข้าถวายสวามิภักดิ์ และกราบทูลขอตั้งบ้านแก่งสำโรงขึ้นเป็นเมือง ปี พ.ศ. ๒๓๓๔ โดยถือเอานิมิตเมืองพรรณานิคมและเมืองหนองหาญธาตุเชิงชุม อันเป็นเมืองเดิมใช้ลุ่มน้ำก่ำ เป็นแหล่งประกอบอาชีพ ซึ่งชาวพื้นเมืองเรียกว่าแม่น้ำ "ก่ำ" แปลว่า "ดำ" นั่นเอง ประกอบกับครั้งนั้นท้าวโสมพะมิตรได้นำกาน้ำสัมฤทธิ์ทูลเกล้าถวาย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้ากระหม่อมให้ยกฐานะบ้านแก่งสำโรงขึ้นเป็นเมือง พระราชทานนามว่า "กาฬสินธุ์" เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๓๖ พร้อมทั้งมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งให้ท้าวโสมพะมิตรเป็นพระยาชัยสุนทรครองเมืองกาฬสินธุ์เป็นคนแรก และผู้คนในถิ่นนี้จึงได้นามว่า "ชาวกาฬสินธุ์" ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา ซึ่งมีคำกลอนเป็นภาษาถิ่นกล่าวอ้างไว้ว่า
"กาฬสินธุ์นี้ดำดินน้ำสุ่ม ปลากุ่มบ้อนคือแข่แก่งหาง ปลานางบ้อนคือขางฟ้าลั่น
จั๊กจั่นฮ้องคือฟ้าล่วงบน แตกจ่น ๆ คนปีบโฮแซว เมืองนี้มีสู่แนวแอ่นระบำฟ้อน"
หมายถึงกาฬสินธุ์ เป็นดินแดนที่อุดมสมบูรณ์มาก มีดินดี น้ำดี ข้าวปลาอาหารบริบูรณ์ประชาชนมีความสุข สดชื่นรื่นเริงทั่วไป
ในครั้งนั้น ท้าวโสมพะมิตร (พระยาชัยสุนทร) ได้ปกครองอาณาประชาราษฎร์ ในเขตดินแดนด้วยความร่มเย็นเป็นสุขด้วยดีเสมอมา จนกระทั่งท้าวโสมพะมิตร (พระยาชัยสมุทร) ได้ถึงแก่ นิจกรรม เมื่ออายุ ๗๐ ปี ท้าวหมาแพงบุตรอุปฮาดเมืองแสนฆ้อนโปง ได้รับพระราชทานเป็นพระยาชัย -สุนทรครองเมืองกาฬสินธุ์แทน ซึ่งตรงกับ พ.ศ. ๒๓๔๘ และยังได้โปรดเกล้าให้ท้าวหมาสุ่ยเป็นอุปฮาด ให้ท้าวหมาฟองเป็นราชวงศ์ ครั้นต่อมาเจ้าอนุวงศ์เมืองเวียงจันทน์เป็นกบฏ ได้มาเกลี้ยกล่อมท้าวหมาแพงให้ร่วมด้วย แต่ท้าวหมาแพงและชาวเมืองกาฬสินธุ์ ทั้งมวลยังมีความจงรักภักดีต่อราชวงศ์จักรีไม่เปลี่ยนแปลง เป็นเหตุให้ท้าวหมาแพงถูกทารุณเฆี่ยนตีและตัดหัวเสียบประจาน ณ ทุ่งหนองหอย ตรงกับปี พ.ศ. ๒๓๖๙ เมื่อความทราบถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทางกรุงเทพมหานคร จึงได้มอบให้พระยาราชสุภาวดี (พระยาบดินทร์เดชา) ยกกองทัพขึ้นไปปราบเมืองเวียงจันทน์จนมีชัยชนะแล้วกวาดต้อน ผู้คนเมืองลาวมารวมกันอยู่ที่เมืองกาฬสินธุ์เป็นจำนวนมาก และได้โปรดเกล้าแต่งตั้ง ท้าวบุตรเจียม บ้านขามเปีย ซึ่งมีความชอบต่อเจ้าพระยาบดินทร์เดชา คือจัดส่งเสบียง ครั้งตีเมืองเวียงจันทน์ขึ้นเป็นพระยาชัยสุนทรเจ้าเมืองกาฬสินธุ์ และแต่งตั้งท้าวหล้าขึ้นเป็นอุปฮาด และท้าวอินทิสารผู้เป็นมิตรสหายของท้าวหล้าขึ้นเป็นที่ราชวงศ์ แล้วแต่งตั้ง ท้าวเชียงพิมพ์ขึ้นเป็นราชบุตร ครั้นโปรดเกล้าฯ จัดแจงแต่งตั้ง เจ้าเมืองกรมการเมืองกาฬสินธุ์ ทั้งปวงเสร็จแล้ว เจ้าพระยาบดินทร์เดชาแม่ทัพจึงยกทัพกลับไป การปกครองบ้านเมืองในระบอบมณฑลเทศาภิบาล พระยาชัยสุนทร (ท้าวบุตรเจียม) ได้ปกครองบ้านเมืองโดยเรียบร้อยต่อมาจนถึงสมัย พระยาชัยสุนทร (ท้าวเก) ปี พ.ศ. ๒๔๓๗ ได้เปลี่ยนรูปแบบการปกครองแบบให้เจ้าเมืองปกครองขึ้นตรงต่อกรุงเทพ มาเป็นรูปการปกครองแบบเทศาภิบาล มีมณฑล, จังหวัด, อำเภอ, ตำบล และมีพระบรม ราชโองการโปรดเกล้าฯ ตั้งให้เมืองร้อยเอ็ดเป็นจังหวัดร้อยเอ็ด บรรดาหัวเมืองต่าง ๆ ให้ยุบเป็นอำเภอ คือ เมืองกาฬสินธุ์ เป็นอำเภออุทัยกาฬสินธุ์ จนกระทั่งถึงวันที่ ๑ สิงหาคม ๒๔๕๖ ได้ทรงพระกรุณายกฐานะจังหวัดร้อยเอ็ด ขึ้นเป็นมณฑล ยกฐานะอำเภออุทัยกาฬสินธุ์เป็นจังหวัดกาฬสินธุ์ ให้จังหวัดมีอำนาจปกครองอำเภอ คือให้อำเภออุทัยกาฬสินธุ์ อำเภอสหัสขันธ์ อำเภอกุฉินารายณ์ อำเภอกมลาไสย อำเภอยางตลาด ขึ้นกับจังหวัดกาฬสินธุ์ และให้จังหวัดกาฬสินธุ์ขึ้นต่อมณฑลร้อยเอ็ด ให้พระภิรมย์บุรีรักษ์ เป็นปลัดมณฑลประจำจังหวัดกาฬสินธุ์ ต่อมามีเหตุการณ์สำคัญ คือเกิดข้าวยากหมากแพงเศรษฐกิจของประเทศตกต่ำ การเงินฝืดเคือง จำเป็นต้องยุบจังหวัดต่าง ๆ ลงเพื่อให้สมดุลกับรายได้ของประเทศ จังหวัดกาฬสินธุ์ ก็ถูกยุบเป็นอำเภอ ขึ้นกับจังหวัดมหาสารคาม เมื่อวันที่ ๑๘ กุมภาพันธ์ ๒๔๗๔ และโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งอรรถเปศลสรวดี เป็นข้าหลวงประจำจังหวัดมหาสารคาม (แทนพระยามหาสารคามคณาภิบาลซึ่งออกรับบำนาญ) เมื่อมีการประกาศใช้พระราชบัญญัติระเบียบบริหารแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. ๒๔๗๖ จึงได้ยกเลิกมณฑลเสีย
ที่มา : ประวัติมหาดไทยส่วนภูมิภาคจังหวัดกาฬสินธุ์. กาฬสินธุ์ : โรงพิมพ์จินตภัณฑ์, ๒๕๒๖.

17 ตุลาคม 2551

เมืองฟ้าแดดสงยาง

เมืองฟ้าแดดสงยาง เป็นเมืองโบราณ ตั้งอยู่ในอำเภอกมลาไสย จังหวัดกาฬสินธุ์ ปัจจุบันเหลือแต่ซากอิฐปนดิน มีคูเมืองสองชั้น มีลักษณะเป็นท้องน้ำ นอกจากนี้ยังมี พระธาตุยาคู ผังเมืองรูปไข่แบบทวาราวดี แต่มีตัวเมืองสองชั้น เชื่อว่าเกิดจากการขยายตัวเมือง มีการขุดพบใบเสมาหินทรายมีลวดลายบ้าง ไม่มีบ้าง ที่ขึ้นทะเบียนไว้กับกรมศิลปากร 130 แผ่น นอกจากนั้นยังค้นพบหลักฐานต่างๆ ที่เป็นเครื่องยืนยันว่ายุคโลหะของสุวรรณภูมิได้เริ่มมาก่อนทุกๆ แห่งในโลก

วัดโพธิ์ชัยเสมารามหรือวัดบ้านก้อมอยู่ในอาณาเขตเมืองฟ้าแดดสงยาง เป็นสถานที่เก็บใบเสมาหินทราย สมัยทวารวดีที่พบในเมืองฟ้าแดดสงยาง
คำว่า "ฟ้าแดด" หมายถึงอาณาเขตของเมืองกว้างไกลสุดสายตาเท่ากับแผ่นฟ้าผืนแดด ส่วนคำว่า "สงยาง" หมายถึงยางจำนวนมากหรือหนาแน่น



พระธาตุยาคู เป็นพระสถูปสมัยทวาราวดี (ราวพุทธศตวรรษที่ 13-15) ตั้งอยู่กลางทุ่งนาทิศเหนือบ้านเสมา อำเภอกมลาไสย ห่างจากจังหวัดกาฬสินธุ์ประมาณ 19 กิโลเมตร เป็นศิลปะการก่อสร้างแบบทวาราวดี ทำด้วยอิฐดิน ฐานเป็นรูป 8 เหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสอง ขนาดฐานกว้าง 10 เมตร ยาว 10 เมตร สร้างซ้อนกันเป็นลักษณะแบบจตุรมุขสูงจากฐานถึงยอด 8 เมตร เชื่อกันว่าเป็นเจดีย์บรรจุอัฐิของพระเถระผู้ใหญ่ที่ชาวเมืองเคารพนับถือ สังเกตได้จากเมื่อเมืองเชียงโสมชนะสงคราม ได้ทำลายทุกสิ่งทุกอย่างในเมืองฟ้าแดดแต่ไม่ได้ทำลายพระธาตุยาคู

ตำนานเมืองฟ้าแดดสงยาง เป็นเมืองที่เจริญรุ่งเรือง มีความอุดมสมบูรณ์ผู้ปกครองเมืองคือพญาฟ้าแดด มีพระมเหสีชื่อ "พระนางจันทาเทวี"(เขียวค่อม) มีพระธิดาชื่อ "พระนางฟ้าหยาด" เป็นผู้ที่มีพระสิริโฉมงดงามมาก เป็นที่หวงแหนของพระราชบิดา-มารดา พญาฟ้าแดดให้ช่างสร้างปราสาทเสาเดียวไว้กลางน้ำ โดยใช้ศิลาแลงในการก่อสร้างบริเวณนี้ปัจจุบันเรียกว่า "โนนฟ้าแดด" นอกนั้นยงมีการขุดสระไว้รอบเมือง มีคูค่ายและเชิงเนิน มีหอรบอย่างแข็งขัน สระที่ขุดไว้ในปัจจุบันเป็นหนองน้ำสาธารณะ เมืองลูกหลวงของเมืองฟ้าแดดคือ เมืองสงยาง มอบให้อนุชาชื่อ พญาอิสูรย์ (เจ้าฟ้าระงึม) เป็นผู้ครองเมือง เมืองทั้งสองห่างกันประมาณ 2 กิโลเมตร เลยรวมเรียกว่า "เมืองฟ้าแดดสงยาง"
เมืองเชียงโสม เป็นเมืองหนึ่งที่มีความใกล้ชิดกับเมืองฟ้าแดด มีพญาจันทราชเป็นผู้ปกครองจัดให้มีเทศกาลเล่นหมากรุก และตีหิงคลี ใครแพ้-ชนะ ก็จะส่งส่วยกินเมืองตามประเพณี ครั้งหนึ่งพญาจันทราชได้ออกล่าสัตว์ และต่อไก่ มุ่งหน้าลงทางใต้ จึงถึงหนองเลิง ได้หลงทางเข้าไปในอุทยานของนางฟ้าหยาด เมื่อพญาจันทราชพบหน้านางฟ้าหยาดก็ชอบพอ
ต่อมาพญาจันทราชเดินทางกลับเมืองเชียงโสมได้มอบให้ขุนเล็ง ขุนดาน นำเครื่องบรรณากาารมาสู่ขอนางฟ้าหยาด แต่ไม่สำเร็จ พญาจันทราช จึงได้เคลื่อนขบวนทัพมาตีเมืองฟ้าแดดสงยาง โดยขอความช่วยเหลือไปยังเมืองเชียงสง เชียงสา เชียงเครือ ท่างาม น้ำดอกไม้ สาบุตรกุดอก ให้ส่งกองทัพมาช่วยฝ่ายพญาฟ้าแดด เมื่อทราบข่าวก็ขอความช่วยเหลือไปยังผู้ปกครองเมืองสงยางผู้เป็นอนุชาให้มาช่วยรบ เมื่อเกิดสงครามมีคนล้มตายเป็นจำนวนมาก พญาจันทราชสิ้นพระชนม์บนคอช้าง แม่ทัพนายกองเห็นดังนั้นก็ยอมแพ้
นางฟ้าหยาดเมื่อทราบข่าวก็มีความเสร้าโศกจนสิ้นชีวิตบนปราสาทกลางน้ำ ต่อมาพญาฟ้าแดดก็ให้ นำศพนางฟ้าหยาด และศพพญาจันทราช บรรจุลงในหีบทองคำ ตกแต่งอย่างสมพระเกียรติ และให้สร้างเจดีย์คู่เป็นอนุสรณ์ไว้ (ปัจจุบันอยู่ทางทิศตะวันตกของโนนเมืองฟ้าแดดสงยาง) ก่อนที่จะบรรจุอัฐิของนางฟ้าหยาดกับพญาจันทราช ได้รับสั่งให้ช่างหลอพระพุทธรูปและเทวรูปทองคำ จำนวน 84,000 องค์ ประกาศให้ชาวเมืองฟ้าแดดสงยางหล่อหรือสร้างพระพุทธรูปทุกครัวเรือน โดยให้หล่อหรือสร้างด้วยทองคำ อิฐ หิน หรือดินเผาแล้วแต่ศรัทธา แล้วบรรจุไว้ในเจดีย์คู่ เพื่อเป็นการบูชาและล้างบาปที่กระทำไว้ จากนั้นได้มอบให้พญาธรรมไปครองเมืองเชียงโสม ส่งสวยแก่เมืองฟ้าแดดเป็นประจำทุกปี
จากตำนานที่เป็นเรื่องเล่าขานสืบต่อกันมาหลายชั่วอายุคน อาจจะมีความคลาดเคลื่อนแต่ก็คงแฝงไว้ด้วยความจริงไว้บ้าง

16 ตุลาคม 2551

หนุมานชาญสมร

หนุมาน เป็นตัวละครเอกตัวหนึ่งในเรื่องรามเกียรติ์ เป็นลิงเผือก จึงมีสีขาวเป็นสีประจำกาย เมื่อสำแดงฤทธิ์จะมี 4 หน้า 8 มือ นอกจากนี้ ยังลักษณะประจำกายอื่นๆ อีก เช่น สวมกุณฑล มีขนเป็นเพชร มีเขี้ยวเป็นแก้ว และ หาวเป็นดาวเป็นเดือน ดังกลอนตอนที่หนุมานเกิดว่า

"ลอยอยู่ตรงพักตร์ชนนี รัศมีโชติช่วงในเวหา
มีกุณฑลขนเพชรอลงการ์ เขี้ยวแก้วแววฟ้ามาลัย

หาวเป็นดาวเดือนระวีวร แปดกรสี่หน้าสูงใหญ่
สำแดงแผลงฤทธิ์เกรียงไกร แล้วลงมาไหว้พระมารดร"

หนุมาน เป็นลิงที่มีฤทธิ์มาก สามารถสำแดงเดชต่างๆ ได้หลายประการ เช่น การขยายร่างกายให้ใหญ่โต การยืดหางให้ยาว เป็นต้น นอกจากนี้ หนุมานยังได้ชื่อว่าเป็นอมตะ คือ ไม่มีวันตาย เนื่องจากเป็นลูกของพระพาย (ลม) กับนางสวาหะ ด้วยเหตุนี้ เมื่อหนุมานมีอันตรายถึงตายแล้ว เพียงแค่มีลมพัดมา หนุมานก็จะฟื้นคืนชีพขึ้นมาใหม่ ด้วยอำนาจของพระพายผู้เป็นบิดา บุคลิกของหนุมานเป็นตัวแทนของชายหนุ่มทั่วไป คือ รูปงาม มีนิสัยเจ้าชู้ และ มีเมียมาก เช่น นางสุพรรณมัจฉา ทั้งคู่มีลูกด้วยกันหนึ่งตน คือ มัจฉานุ ซึ่งเป็นลูกผสมระหว่าง ลิงเผือกกับปลา นั่นคือ มีกายเป็นลิงเผือกเหมือนหนุมาน แต่หางนั้น กลับเป็นหางของปลา นางเบญกาย บุตรีของพญาพิเภก หนุมานได้นางเบญกายตอนที่ นางเบญกายจำแลงกายเป็นศพของ นางสีดาลอยทวนน้ำมา เพื่อหลอกพระรามให้เสียพระทัย แต่ภายหนังกลนี้ถูกจับได้ พระรามจึงให้หนุมานพานางเบญจกายไปส่งกลับเมือง ซึ่งทั้งคู่ลูกด้วยกัน ชื่อว่า อสุรผัด
ตลอดเรื่องรามเกียรติ์นั้น หนุมานผู้เป็นทหารเอกได้รับรางวัลจากพระราม 3 ครั้ง
  1. ผ้าขาวม้า ได้ตอนที่หนุมานไปเผากรุงลงกา
  2. ธำมรงค์ ได้จากตอนที่ไปช่วยพระรามหลังจากที่ถูกไมยราพจับไปขังไว้ที่เมืองบาดาล
  3. เมืองนพบุรีพร้อมสนม 5000 นาง ได้ในตอนที่เสร็จศึกลงกาแล้ว