17 ตุลาคม 2551

เมืองฟ้าแดดสงยาง

เมืองฟ้าแดดสงยาง เป็นเมืองโบราณ ตั้งอยู่ในอำเภอกมลาไสย จังหวัดกาฬสินธุ์ ปัจจุบันเหลือแต่ซากอิฐปนดิน มีคูเมืองสองชั้น มีลักษณะเป็นท้องน้ำ นอกจากนี้ยังมี พระธาตุยาคู ผังเมืองรูปไข่แบบทวาราวดี แต่มีตัวเมืองสองชั้น เชื่อว่าเกิดจากการขยายตัวเมือง มีการขุดพบใบเสมาหินทรายมีลวดลายบ้าง ไม่มีบ้าง ที่ขึ้นทะเบียนไว้กับกรมศิลปากร 130 แผ่น นอกจากนั้นยังค้นพบหลักฐานต่างๆ ที่เป็นเครื่องยืนยันว่ายุคโลหะของสุวรรณภูมิได้เริ่มมาก่อนทุกๆ แห่งในโลก

วัดโพธิ์ชัยเสมารามหรือวัดบ้านก้อมอยู่ในอาณาเขตเมืองฟ้าแดดสงยาง เป็นสถานที่เก็บใบเสมาหินทราย สมัยทวารวดีที่พบในเมืองฟ้าแดดสงยาง
คำว่า "ฟ้าแดด" หมายถึงอาณาเขตของเมืองกว้างไกลสุดสายตาเท่ากับแผ่นฟ้าผืนแดด ส่วนคำว่า "สงยาง" หมายถึงยางจำนวนมากหรือหนาแน่น



พระธาตุยาคู เป็นพระสถูปสมัยทวาราวดี (ราวพุทธศตวรรษที่ 13-15) ตั้งอยู่กลางทุ่งนาทิศเหนือบ้านเสมา อำเภอกมลาไสย ห่างจากจังหวัดกาฬสินธุ์ประมาณ 19 กิโลเมตร เป็นศิลปะการก่อสร้างแบบทวาราวดี ทำด้วยอิฐดิน ฐานเป็นรูป 8 เหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสอง ขนาดฐานกว้าง 10 เมตร ยาว 10 เมตร สร้างซ้อนกันเป็นลักษณะแบบจตุรมุขสูงจากฐานถึงยอด 8 เมตร เชื่อกันว่าเป็นเจดีย์บรรจุอัฐิของพระเถระผู้ใหญ่ที่ชาวเมืองเคารพนับถือ สังเกตได้จากเมื่อเมืองเชียงโสมชนะสงคราม ได้ทำลายทุกสิ่งทุกอย่างในเมืองฟ้าแดดแต่ไม่ได้ทำลายพระธาตุยาคู

ตำนานเมืองฟ้าแดดสงยาง เป็นเมืองที่เจริญรุ่งเรือง มีความอุดมสมบูรณ์ผู้ปกครองเมืองคือพญาฟ้าแดด มีพระมเหสีชื่อ "พระนางจันทาเทวี"(เขียวค่อม) มีพระธิดาชื่อ "พระนางฟ้าหยาด" เป็นผู้ที่มีพระสิริโฉมงดงามมาก เป็นที่หวงแหนของพระราชบิดา-มารดา พญาฟ้าแดดให้ช่างสร้างปราสาทเสาเดียวไว้กลางน้ำ โดยใช้ศิลาแลงในการก่อสร้างบริเวณนี้ปัจจุบันเรียกว่า "โนนฟ้าแดด" นอกนั้นยงมีการขุดสระไว้รอบเมือง มีคูค่ายและเชิงเนิน มีหอรบอย่างแข็งขัน สระที่ขุดไว้ในปัจจุบันเป็นหนองน้ำสาธารณะ เมืองลูกหลวงของเมืองฟ้าแดดคือ เมืองสงยาง มอบให้อนุชาชื่อ พญาอิสูรย์ (เจ้าฟ้าระงึม) เป็นผู้ครองเมือง เมืองทั้งสองห่างกันประมาณ 2 กิโลเมตร เลยรวมเรียกว่า "เมืองฟ้าแดดสงยาง"
เมืองเชียงโสม เป็นเมืองหนึ่งที่มีความใกล้ชิดกับเมืองฟ้าแดด มีพญาจันทราชเป็นผู้ปกครองจัดให้มีเทศกาลเล่นหมากรุก และตีหิงคลี ใครแพ้-ชนะ ก็จะส่งส่วยกินเมืองตามประเพณี ครั้งหนึ่งพญาจันทราชได้ออกล่าสัตว์ และต่อไก่ มุ่งหน้าลงทางใต้ จึงถึงหนองเลิง ได้หลงทางเข้าไปในอุทยานของนางฟ้าหยาด เมื่อพญาจันทราชพบหน้านางฟ้าหยาดก็ชอบพอ
ต่อมาพญาจันทราชเดินทางกลับเมืองเชียงโสมได้มอบให้ขุนเล็ง ขุนดาน นำเครื่องบรรณากาารมาสู่ขอนางฟ้าหยาด แต่ไม่สำเร็จ พญาจันทราช จึงได้เคลื่อนขบวนทัพมาตีเมืองฟ้าแดดสงยาง โดยขอความช่วยเหลือไปยังเมืองเชียงสง เชียงสา เชียงเครือ ท่างาม น้ำดอกไม้ สาบุตรกุดอก ให้ส่งกองทัพมาช่วยฝ่ายพญาฟ้าแดด เมื่อทราบข่าวก็ขอความช่วยเหลือไปยังผู้ปกครองเมืองสงยางผู้เป็นอนุชาให้มาช่วยรบ เมื่อเกิดสงครามมีคนล้มตายเป็นจำนวนมาก พญาจันทราชสิ้นพระชนม์บนคอช้าง แม่ทัพนายกองเห็นดังนั้นก็ยอมแพ้
นางฟ้าหยาดเมื่อทราบข่าวก็มีความเสร้าโศกจนสิ้นชีวิตบนปราสาทกลางน้ำ ต่อมาพญาฟ้าแดดก็ให้ นำศพนางฟ้าหยาด และศพพญาจันทราช บรรจุลงในหีบทองคำ ตกแต่งอย่างสมพระเกียรติ และให้สร้างเจดีย์คู่เป็นอนุสรณ์ไว้ (ปัจจุบันอยู่ทางทิศตะวันตกของโนนเมืองฟ้าแดดสงยาง) ก่อนที่จะบรรจุอัฐิของนางฟ้าหยาดกับพญาจันทราช ได้รับสั่งให้ช่างหลอพระพุทธรูปและเทวรูปทองคำ จำนวน 84,000 องค์ ประกาศให้ชาวเมืองฟ้าแดดสงยางหล่อหรือสร้างพระพุทธรูปทุกครัวเรือน โดยให้หล่อหรือสร้างด้วยทองคำ อิฐ หิน หรือดินเผาแล้วแต่ศรัทธา แล้วบรรจุไว้ในเจดีย์คู่ เพื่อเป็นการบูชาและล้างบาปที่กระทำไว้ จากนั้นได้มอบให้พญาธรรมไปครองเมืองเชียงโสม ส่งสวยแก่เมืองฟ้าแดดเป็นประจำทุกปี
จากตำนานที่เป็นเรื่องเล่าขานสืบต่อกันมาหลายชั่วอายุคน อาจจะมีความคลาดเคลื่อนแต่ก็คงแฝงไว้ด้วยความจริงไว้บ้าง